ตุ๊กตาแม่ลูกดก ของฝากสุดฮิตจากรัสเซีย

ตุ๊กตาแม่ลูกดก หรือ มาโตรชก้า (Matryoshka) เป็นตุ๊กตาไม้ ชุดหนึ่งประกอบด้วยตุ๊กตาไม้หลายตัวเรียงซ้อนกันอยู่ข้างใน แต่ละตัวจะมีทั้งส่วนบนและส่วนล่าง สามารถนำมาประกบกันได้สนิทตามร่องที่เซาะไว้ แต่ตัวสุดท้ายจะมีขนาดเล็กที่สุด จะเป็นตุ๊กตาเต็มตัวและตันเพียงชิ้นเดียว เป็นสัญลักษณ์ของ “ความอุดมสมบูรณ์และความมีชีวิตยืนยาว”ตุ๊กตาน่ารักที่มีความหมายดีๆ แบบนี้ หากได้ไปเที่ยวรัสเซียก็อย่าลืมซื้อมาฝากเพื่อนๆกันนะคะ

ของฝากประเทศรัสเซีย ตุ๊กตาแม่ลูกดก หรือ มาโตรชก้า Matryoshka เป็นตุ๊กตาของรัสเซียที่เรียงซ้อน ๆ กันหลายตัว ชื่อนี้แผลงมาจากชื่อสตรีภาษารัสเซีย ว่า “มาตรีโยนา” หรืออาจจะถูกเรียกว่าตุ๊กตาคุณยาย

ตุ๊กตาแม่ลูกดกชุดหนึ่ง ประกอบด้วยตุ๊กตาไม้หลายตัวเรียงซ้อนกันอยู่ข้างใน แต่ละตัวประกอบด้วยสองส่วน คือส่วนบนและส่วนล่าง นำมาประกบกันได้สนิทตามร่องที่เซาะเอาไว้ ตุ๊กตาทุกตัวมีโพรงข้างใน เว้นแต่ตัวสุดท้ายซึ่งมีขนาดเล็กสุด จะเป็นตุ๊กตาเต็มตัว ตัน ชิ้นเดียว ตุ๊กตาแม่ลูกดกชุดหนึ่งจะมีตุ๊กตาซ้อนข้างในกี่ตัวก็ได้ ถ้ามีจำนวนมาก ตุ๊กตาตัวใหญ่สุดที่อยู่นอกสุดก็จะต้องมีขนาดใหญ่มากด้วย ตุ๊กตาทุกตัวจะมีรูปร่างเหมือนกันหมด คือ คล้ายกระบอก โป่งตรงกลาง ด้านบนโค้งมน ส่วนฐานเรียบ ไม่มีมือหรือส่วนใดยื่นออกมา แต่จะใช้สีวาดเป็นหน้าเป็นตาหรือขาทั้งหมด ให้ตุ๊กตาแต่ละตัวมีใบหน้าและเสื้อผ้าที่เหมือนกันด้วย ทั้งยังเคลือบเงาอย่างสวยงาม

หน้าตาของตุ๊กตาแม่ลูกดกนั้นเดิมนั้นทำเป็นหญิงชาวนา แต่งกายแบบดั้งเดิม มีผ้าคลุมศีรษะ แต่ในภายหลังมีการวาดตุ๊กตาเป็นรูปเทพธิดา นางฟ้า และบุคคลที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำของรัสเซีย เช่นเลนิน ปูติน หรือจะดาราระดับตำนานอย่างมาริลิน หรือนักร้องชื่อดังอย่างไมเคิล แจ็คสัน และมาดอนน่า ไม่เว้นแม้แต่คาแรคเตอร์ของตัวละครชื่อดังอย่างหมีพูห์ มิคกี้เมาส์

ประวัติ

กำเนิดของตุ๊กตาที่น่ารักตัวนี้เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันระยะหนึ่ง ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปเป็นสองทาง ทางหนึ่งว่า พระชาวรัสเซียเป็นบุคคลแรกที่นำวิชาทำตุ๊กตาไม้ไปจากเกาะฮนชูของญี่ปุ่น เมื่อมาถึงรัสเซียแล้ว ก็ผสมผสานรูปแบบกับศิลปะท้องถิ่น เช่น แนวคิดในการซ้อนตุ๊กตาที่คุ้นเคยกันดีในรัสเซีย และประยุกต์เข้ากับงานประดิษฐ์แอปเปิลไม้และไข่อีสเตอร์ แล้วตั้งชื่อขึ้นใหม่ว่า มาโตรชก้า

อีกทางหนึ่งว่ามาโตรชก้าได้รับแรงบันดาลใจจากตุ๊กตาที่ระลึกจากเกาะฮอนชูในญี่ปุ่น และเมื่อเทียบกับตุ๊กตาไม้ของญี่ปุ่นแล้ว ก็จะเห็นว่าตุ๊กตาญี่ปุ่นเหล่านั้นมีลักษณะบางอย่างคล้ายคลึงกับมาตริยอชคา ด้วยเป็นตุ๊กตาเด็กผู้หญิงแกะด้วยไม้ เชื่อกันว่าในภายหลังมีการนำตุ๊กตาจากญี่ปุ่นไปยังแผ่นดินรัสเซียเมื่อราว พ.ศ. 2430

เมื่อปี พ.ศ. 2443 เอ็ม. เอ. มามอนตอฟ ได้นำตุ๊กตาแบบนี้ไปจัดแสดงในงานสินค้า (World Exhibition) ที่กรุงปารีส และได้รับรางวัลเหรียญทองแดง และในไม่ช้าก็มีการผลิตตุ๊กตาแม่ลูกดกในรัสเซียอย่างแพร่หลายในหลายท้องที่และหลากหลายรูปแบบ

เมื่อประมาณ 120 ปีที่ผ่านมา มีการพัฒนาเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของรัสเซียครั้งใหญ่ จึงมีความสนใจที่จะอนุรักษ์ธรรมเนียมพื้นบ้านมากขึ้น ด้วยมีการฟื้นฟูวัฒนธรรมและรวบรวมผู้เชี่ยวชาญศิลปะพื้นบ้านต่าง ๆ และเพื่อเป็นการอนุรักษ์ความทรงจำเก่า ๆ เกี่ยวแก่ท้องถิ่นรัสเซีย จึงมีการสร้างห้องทำงานช่างศิลปะขึ้นใกล้กับกรุงมอสโก ศิลปะพื้นบ้านต่าง ๆ จำพวกของเล่นและตุ๊กตา ถูกรวบรวมมาจากพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อศึกษาและผลิตสืบต่อไป

ศิลปินคนสำคัญคนหนึ่งชื่อว่าเซียร์เกย์ มัลยูติน ได้ร่างแบบตุ๊กตาแม่ลูกดกขึ้นมาเป็นครั้งแรก แต่หลังจากนั้นได้มีการถกเถียงและแก้ไขรูปร่างกันหลายครั้ง สุดท้ายก็ได้รูปแบบที่ตกลงกัน คือวาดเป็นเด็กหญิงหน้ากลมแป้น ตาใสแจ๋ว สวมชุดที่เรียกว่า ซาราฟัน (ชุดยาวถึงพื้นมีสายรั้งสองข้าง) และวาดผมสวย แต่มีผ้าคลุมศีรษะสีสดใสให้ แล้วยังมีตุ๊กตาที่เหมือนกัน แต่ตัวเล็กกว่าใส่ไว้ข้างในด้วย แต่ตุ๊กตาข้างในแต่งตัวไม่เหมือนกัน กล่าวคือสวมโคโซโวรอตคัส (กระโปรงแบบรัสเซีย) และเสื้อเชิ้ตปอดดิออฟคัส (เสื้อคลุมยาวถึงเอวของผู้ชาย) และผ้ากันเปื้อนด้วย รูปร่างของตุ๊กตาแม่ลูกดกสมัยที่มัลยูตินได้ร่างแบบไว้ในมอสโก เมื่อปี พ.ศ. 2434

การผลิต

ช่างที่แกะสลักตุ๊กตาจะต้องทำงานอย่างหนัก และใช้ความชำนาญอย่างมาก ความรู้เหล่านี้ถูกปกปิด เป็นความลับมานาน แต่ในปัจจุบัน มีการเปิดเผยความรู้ดังกล่าวจนแพร่หลายเช่นเดียวกับตัวตุ๊กตาที่น่ารักเหล่านี้

ขั้นตอนการทำงานนั้น ก่อนอื่น ช่างจะต้องไปหาไม้ที่มีความเหมาะสม เพราะต้องการเนื้อไม้ที่นิ่ม จึงมักใช้ไลม์วูด แต่บางทีก็ใช้ไม้เบิร์ช หรือแอลเดอร์ การเลือกไม้นั้นเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากขั้นตอนหนึ่งทีเดียว จากนั้นก็โค่นต้นไม้ ซึ่งมักจะเป็นช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ เขาก็ลอกเปลือกไม้ออกเกือบหมด เหลือแต่พอป้องกันไม่ให้ไม้แตกเวลาแห้ง จากนั้นก็ทิ้งท่อนไม้นั้นนานหลายปี ให้โดนลมจนมีความแห้งพอดี

เมื่อถึงเวลาตัดไม้มาให้งาน จะต้องกะเวลาให้ถูก โดยไม่ตัดในช่วงอากาศชื้น หรือแห้งเกินไป ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญจริง ๆ เท่านั้น จึงจะทราบเวลาที่เหมาะสม การตัดไม้นั้นมีขั้นตอนต่าง ๆ ที่สลับซับซ้อนมากมายถึง 15 ขั้นตอนด้วยกัน

ขั้นตอนการผลิตนั้น จะเริ่มต้นที่ตุ๊กตาตัวเล็กสุดก่อน ซึ่งจะบรรจุภายในสุด โดยช่างจะแกะสลักอย่างประณีต ตุ๊กตาตัวสุดท้องนี้เป็นไม้ชิ้นเดียว ไม่แยกเป็นสองส่วนเหมือนตุ๊กตาตัวอื่น ๆ การแกะตุ๊กตาตัวสุดท้องต้องใช้สายตามาก บางคนต้องใช้แว่นขยายช่วยทำงานด้วยซ้ำ พอตุ๊กตาน้องน้อยเสร็จแล้ว ช่างจะทำตุ๊กตาน้องรองขึ้นมาอีกตัว เพื่อจะใส่น้องน้อยลงไปข้างในให้ได้พอดี การตัดไม้ต้องพิถีพิถัน ให้ได้ความสูงที่ถูกต้องเหมาะสม และตัดเป็นสองท่อน คือท่อนบนและท่อนล่าง ช่างจะแกะสลักท่อนล่างก่อน โดยขุดเอาเนื้อไม้ข้างในออก และลองใส่ตุ๊กตาตัวเล็กสุดนี้เข้าไป และแกะเนื้อไม้จนได้ขนาดที่พอดี

ช่างที่ชำนาญจะไม่ต้องใช้เครื่องมือวัดเลย อาศัยประสบการณ์ที่ยาวนานเท่านั้น หลังจากนั้นก็ทำตุ๊กตาตัวใหญ่ขึ้นทีละตัว ๆ จนกว่าจะได้จำนวนที่ต้องการ

ตุ๊กตาที่ใส่เข้าไปในตุ๊กตาตัวใหญ่สุดนั้นมีจำนวนตั้งแต่ 5-60 ตัว ตัวใหญ่สุดอาจสูงเท่าคนจริงเลยก็มี เมื่อทำเสร็จทุกอย่างแล้ว ก็นำกาวมาปิดส่วนที่มีร่องรอยบนผิวหน้าให้เรียบ ทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วขัดผิวให้ลื่นเป็นมัน จากนั้นก็ทาสี วาดภาพหน้าตา ทรงผม และเสื้อผ้าให้สวยงาม ช่างที่ชำนาญจะตกแต่งตุ๊กตาได้อย่างรวดเร็ว เมื่อวาดภาพหน้าตาเสร็จ ก็เป็นอันเรียบร้อย

 

สนใจเที่ยวรัสเซีย ทัวร์รัสเซีย>>คลิก

ทัวร์อเมริกา

ติดต่อเรา วันจันทร์ - เสาร์ เวลา 9:00 - 17:30